เหยี่ยวขาว


การเตรียมสถานที่

ก่อนที่เราจะได้รับนกล่าเหยื่อมาไว้ในครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นนกต่างประเทศที่โตมาแล้ว หรือกระทั่งลูกนก สิ่งที่เราสามารถเตรียมพร้อมไว้ก่อนสิ่งแรก คือ สถานที่ ซึ่งการเตรียมสถานที่สำหรับเลี้ยงดูนกล่าเหยื่อนั้นไม่ยาก เพียงแค่มีปัจจัยหลัก เพื่อให้นกล่าเหยื่อที่เราเลี้ยงดู มีความปลอดภัย

เบื้องต้น ทั้งภายนอก และภายใน ซึ่งการจัดเตรียมพื้นที่จะมีอยู่ 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ พื้นที่การเลี้ยงดู สำหรับการฝึก และพื้นที่การเลี้ยงดูสำหรับการเพาะพันธุ์ หรือไม่ต้องการฝึก
พื้นที่การเลี้ยงดู สำหรับการฝึก นั้นเตรียมมีขั้นตอนไม่มาก เพียงแค่เราต้องการพื้นที่ว่าง เพื่อการวางคอน และถาดน้ำ เท่านั้น และห้ามมีสิ่งอื่นอยู่ภายในบริเวณที่นกล่าเหยื่อสามารถกระโดดไปถึง เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายกับร่างกายของนก และเส้นขนของนก
รังเลี้ยงลูกนกล่าเหยื่อ เราจะใช้กล่อง หรือถาดที่มีขอบสูงราว 2-4 นิ้ว เพื่อป้องกันลูกนกออกจากรังที่เตรียมไว้ และให้ลูกนกล่าเหยื่อสามารถขับถ่ายของเสียออกนอกรัง(ลูกนกล่าเหยื่อมีพฤติกรรมการถ่ายของเสีย ให้พ้นรังของตัวเอง)  ท้ายสุดเราจะปูพื้นด้วยกิ่งไม้ หรือสิ่งเทียม ให้มีลักษณะคล้ายรังเหยี่ยว และลูกนกยังสามารถออกกำลังขา ฝึกกำกิ่งไม้ในรังของตนเองได้(บ่อยครั้ง เรามักจะใช้กิ่งของสนมังกร)

การดูสภาพนกล่าเหยื่อเบื้องต้น
แน่นอนที่สุดว่าลูกนกล่าเหยื่อทุกตัว ไม่ว่าจะมาจากที่ใดย่อมต้องมีเชื้อโรคอยู่ภายในร่างกายอยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่จะยังไม่แสดงอาการ หากนกยังแข็งแรงเท่านั้น แต่สิ่งแรกที่เราสามารถสัมผัสได้ เลือกได้ก็คือสภาพภายนอกโดยรวมของนกล่าเหยื่อ และนำกลับมาเลี้ยงให้มีสุขภาพแข็งแรงเท่านั้นเอง

  • 1.ดูลักษณะภายนอกโดยละเอียด แววตาสดใส กระฉับกระเฉง พยายามไม่ให้มีบาดแผล หรือมีลักษณะกระดูกผิดเพี้ยน ปีก ขา เล็บ สมบูรณ์
  • 2.สัมผัสร่างกาย บริเวณหน้าอก ต้องไม่มีลักษณะแหลมจนเกินไป
  • 3.ดูลักษณะภายในช่องปาก ว่าปรกติหรือไม่ ต้องไม่มีเศษเนื้อ คราบเชื้อราสีเหลือง ขาว น้ำลายเหนียวและกลิ่นเหม็น
  • 4.พยายามดูลักษณะของมูล และดูขนบริเวณต้องสะอาด แสดงว่านกยังมีแรงขับถ่ายปรกติดี
  • 5.ดูลักษณะการหายใจ ตรวบสอบทางเดินหายใจเบื้องต้น โดยการฟังเสียงหายใจ และดูลักษณะนกว่าหายใจคล้ายคนหอบหรือไม่



อาหาร
อาหารที่เหมาะสมกับนกล่าเหยื่อของเรา แน่นอนที่สุดย่อมเป็นอาหารตามธรรมชาติ จากเหยื่อที่นกสามารถล่าได้ในธรรมชาติ แต่ในเชิง Falconry จะมีการใช้อาหารอยู่ 2 กรณี คือ อาหารสำหรับการฝึก และอาหารสำหรับการเลี้ยงดูลูกนกล่าเหยื่อ หรือนกช่วงผลัดขน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังต้องอยู่บนปัจจัยว่า "สะอาด ปลอดเชื้อโรค" เป็นที่สุด อาหารสำหรับการเลี้ยงดูลูกนกล่าเหยื่อ ก็แตกต่างกันออกไปตามชนิดของนก ซึ่งสำหรับ Falconer คงจะหนีไม่พ้น ลูกไก่กับนกกระทา เนื่องจากมีสารอาหารที่เหมาะสม และยังหาซื้อได้ง่ายทั่วไปตามร้านจำหน่ายอาหารสำหรับนกนักล่า ซึ่งที่เหลือก็อยู่ที่ขั้นตอนการเลือกซื้อ และจัดการให้พร้อมกับการป้อนนกล่าเหยื่อ
การดูแลและการให้อาหาร
หลังจากที่เราเตรียมรัง สถานที่ และอาหารแล้ว สิ่งต่อไปคือขั้นตอนการให้อาหารลูกนกล่าเหยื่อ รวมถึงการดูแลคร่าวๆ เมื่อเราได้นกล่าเหยื่อมาครอบครองแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็ยังคงเป็นเช่นเดิน เพื่อความสะอาด ปลอดภัย ปลอดโรค การป้อนลูกนกล่าเหยื่อก็เช่นกัน

    • ลูกนกเพิ่งลืมตา(อายุ 1-2 สัปดาห์) เราจะให้เฉพาะเนื้อนกกระทา(หรือนกกระทาสับละเอียด) ผสมกับวิตามิน ป้อนลูกนก 4-5 ครั้ง/วัน ซึ่งแต่ละครั้งเราต้องไม่ให้อาหารจนอิ่ม จะสังเกตุที่ส่วนกะเพาะพักอาหาร(Crop) ต้องห้ามให้อาหารมาพักจนถึงส่วนลำคอ เพื่อป้องกันอาหารเน่าเสียในกะเพาะพักอาหาร(Crop)
    • ลูกนกเริ่มคลาน และยืน เราจะให้นกกระทาสับละเอียด ผสมกับวิตามิน ป้อนลูกนก 3 มื้อต่อวัน ซึ่งแต่ละครั้งเราต้องไม่ให้อาหารจนอิ่ม เช่นกัน แต่ปริมาณย่อมมากกว่าเดิม เพราะลูกนกจะมีขนาดโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
    • ลูกนกเริ่มมีขนขึ้น เราจะให้นกกระทาชำแหละ วางให้ลูกนกทานเอง 2 มื้อต่อวัน พยายามกะปริมาณให้ลูกนกทานเกือบอิ่มเช่นเคย และเพื่อให้ลูกนกได้ออกกำลังกาย ด้วยความพยายามฉีกอาหารทานเอง


สิ่งพึงกระทำ อาการพึงระวัง และสิ่งอันตราย

    • 1.สังเกตุลักษณะมูลของลูกนก ว่ามีสิ่งผิดปรกติหรือไม่ โดยปรกติแล้ว จะมีอยู่ 3 ส่วน น้ำใสๆ ครีมสีขาวสะอาด และก้อนสีน้ำตาล
    • 2.พยายามชั่งน้ำหนักลูกนก เพื่อดูพัฒนาการของลูกนกทุกๆวัน
    • 3.ก่อนให้อาหาร ต้องจับกะเพาะพัก(Crop) อยู่เสมอ และตรวจสอบว่า มีอาหารค้างอยู่หรือไม่ หากมีให้พิจารณาเบื้องต้นดูว่า ให้ไปนานหรือยัง จะเน่าเสียหรือไม่
    • 4.สังเกตุอาการของลูกนกอยู่เสมอ ว่ามีท่าทีอ่อนแรง รูปทรงกระดูกผิดเพี้ยน ไม่อยากอาหารหรือไม่ และใส่ใจกับทุกอาการ การกระทำของลูกนกเสมอ
    • 5.ระวังศัตรูโดยธรรมชาติ อาทิ มด แมลง ภายในบ้าน ไม้ให้ไปทำร้ายลูกนกที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้ หากในบ้านมีสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ให้เลี้ยงแยกกันเสีย โดยเฉพาะแมว แต่หากมีสุนัข Gun Dog เช่น Pointer ก็สามารถเลี้ยงด้วยกันให้เกิดความเคยชินได้
    • 6.ห้าม!! พยายามฝึกเรียกบินลูกนกที่ยังโตไม่เต็มวัยเป็นอันขาด อาจจะทำให้เกิดอันตราย และหากผิดพลาดจะต้องเสียเวลาแก้ไขอีกมาก
    • 7.เริ่มติดตั้งอุปกรณ์ Anklets, Jesses และอุปกรณ์อื่นๆ เมื่อลูกนกเริ่มหัดบินหรือเริ่มกระโดดไปมา


อย่าลืมว่าการเลี้ยงดูนกล่าเหยื่อทุกชนิด ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องพิถีพิถันกับการเลี้ยงดูทุกขั้นตอน รวมถึงได้คำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ เพื่อให้นกล่าเหยื่อทุกตัว แข็งแรง สมบูรณ์ ปราศจากโรค ครั้งหน้า เราจะมาพร้อมกับรูปภาพอุปกรณ์มาตรฐานและบทความความสำคัญของอุปกรณ์นกล่าเหยื่อ ว่า ทำไมต้องใช้ อุปกรณ์มีกี่ชนิด และใช้อะไรถึงจะเหมาะสมกับนกของเรา พร้อมกับเรื่องนกล่าเหยื่อชนิดต่างๆ มีอะไรบ้าง และชนิดไหนเหมาะกับตัวเรา ในโอกาสหน้า และหากใครมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถโพสสอบถามเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้บทความสมบูรณ์มากขึ้นได้ครับ

0 ความคิดเห็น: